5 โรคฮิตที่พ่อแม่ต้องเตรียมรับมือ เมื่อลูกน้อยไปโรงเรียน

ปัจจุบันมีโรคติดต่อในเด็กเกิดเพิ่มขึ้นมากมายเลยนะคะ และยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยค่ะ และเมื่อเด็กน้อยต้องไปโรงเรียน แน่นอนค่ะว่า อาจจะมีโอกาสป่วยหรือไม่สบายกันได้บ่อยๆเลยทีเดียวค่ะ เพราะด้วยวัยที่ยังเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ยังมีไม่เต็มที่ และเมื่อต้องไปโรงเรียน ก็จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับเด็กคนอื่นๆ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ หากมีเด็กคนใดคนหนึ่งในกลุ่มเพื่อนๆที่ไม่สบายได้ค่ะ บทความนี้จึงมานำเสนอเกี่ยวกับโรคฮิต ที่เด็กอาจจะมีโอกาสติดมาจากโรงเรียนได้นะคะ เรามาดูกันค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง

  1. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV นับเป็นอีกหนึ่งโรคทางเดินหายใจ ที่แพร่ระบาดในเด็ก ในช่วงฤดูฝนของทุกปี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ อาการจะปรากฏหลังจากสัมผัสกับเชื้อโรคประมาณ 4-6 วัน ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและหลอดลมขนาดใหญ่ อาการจะคล้ายกับเป็นหวัดทั่วไป เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดหัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 -2 สัปดาห์ แต่ในเด็กทารก เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดแต่กำเนิด การติดเชื้อไวรัส RSV จะก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่า เพราะเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง และทำให้เกิดโรคปอดบวม หรือโรคหลอดลมอักเสบได้โดยมีอาการไข้ ไออย่างรุนแรง หายใจเร็ว ติดขัด มีเสียงหวีด หอบ กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและผิวหนังของทารกจะบุ๋ม ตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV หากลูกมีอาการน่าสงสัย ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะมีการเก็บเสมหะจากจมูกไปทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV การรักษาจะรักษาตามอาการเช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ พ่นยาเคาะปอด ดูดเสมหะ การแพร่กระจายของไวรัส RSV คล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่น คือผ่านการจามหรือไอที่ก่อให้เกิดละอองเสมหะในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง และผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เช่น เด็กสัมผัสสิ่งของหรือของเล่นที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่  แล้วมาจับปาก จมูก หรือตาของตัวเอง จึงมักติดต่อกันง่ายในโรงเรียน

  1. โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth)

โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ซึ่งสายพันธ์ก่อให้เกิดอาการรุนแรงคือ  Coxsackie A และ Enterovirus 71 อาการที่เห็นชัดคือ มีตุ่มแผลในปากหรือในคอ มีผื่นแดงหรือตุ่มใสที่มือ เท้า ตามตัวหรือรอบทวารหนัก ประกอบกับอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาเจียน ถ่ายเหลว มักระบาดในช่วงฤดูฝน และเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น และตุ่มน้ำใส

ปัจจุบันยังไม่มียารักษามือเท้าปากโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่นเช็ดตัวให้ยาลดไข้ ใช้ยาชาบรรเทาการเจ็บแผลในปาก ฯลฯ จนกว่าอาการดีขึ้น อย่างไรก็ดี ควรต้องระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีได้ เช่นภาวะแทรกซ้อนที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อบุสมองอักเสบ สมองอักเสบ แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน เป็นต้น และภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นต้น

เมื่อพบว่าลูกเป็นมือเท้าปาก ต้องลูกหยุดเรียนและแจ้งให้โรงเรียนทราบ รวมถึงหลีกเลี่ยงพาเด็กไปสถานที่ชุมชนจนกว่าจะหายดี ควรให้ลูกล้างมือให้สะอาก หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าไป เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

  1. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ  ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อาการป่วยจะเริ่มปรากฎหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก โดยอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต

การรักษาคือการให้ยาต้านไวรัส ภายใน 48 ชั่วโมงที่เริ่มอาการ นาน 3-5 วัน เด็กที่ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน โดยติดต่อทางการหายใจ จากเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด รวมถึงการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางในการป้องกันโรค แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ลดโอกาสหรือบรรเทาความรุนแรงของโรคได้

  1. ท้องเสียจากการติดเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus)

การติดเชื้อโนโรไวรัส มักระบาดในฤดูหนาว ทำให้เกิดอาการอักเสบที่กระเพาะอาหาร มีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ คืออาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย ไข้ต่ำๆ มีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมง หากเด็กเล็กป่วย อาจมีอาการรุนแรงทำให้เกิดอาการขาดน้ำ จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้สารละลายเกลือแร่หรือน้ำเกลือ และรักษาตามอาการเชื้อโนโรไวรัส แพร่ระบาดผ่านการสัมผัสทางอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อน รวมถึงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง หรือสิ่งของต่างๆ ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ แล้วเอานิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก และยังติดต่อทางการหายใจ เช่นการหายใจใกล้ผู้ป่วยที่อาเจียน และแม้ผู้ป่วยจะดีขึ้นจนไม่มีอาการแล้ว เชื้อก็ยังอยู่ในอุจจาระนานเป็นสัปดาห์ 

 

  1. ไข้เลือดออก

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 แต่ละสายพันธุ์มีระดับความรุนแรงของโรคต่างกันไป หากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อสายพันธุ์ไหนแล้ว จะไม่เป็นสายพันธุ์นั้นอีก แต่สามารถกลับมาเป็นโรคไข้เลือดออกในสายพันธุ์อื่นๆ แทน

การติดต่อนั้นจะมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเดงกี่เข้าไป เชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงจะเพิ่มจำนวน และกระจายเชื้อเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อให้กับคนที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุง ซึ่งอยู่ได้นาน 1-2 เดือน

9 สัญญาณลูกน้อยเสี่ยงไข้เลือดออก

หากมีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วควรต้องไปพบแพทย์ทันที

  1. ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่อาการแย่ลง ยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
  2. คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา
  3. ปวดท้องมาก
  4. มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  5. พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
  6. กระหายน้ำตลอดเวลา
  7. ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
  8. ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
  9. ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง

การตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก
นอกจากซักประวัติอาการ และอาการแสดงแล้ว จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคด้วย เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาไวรัสเดงกี่ด้วยวิธี PCR, การตรวจหา NS1 แอนติเจนของไวรัสซึ่งควรตรวจ ในช่วงวันแรกๆ ของไข้ การตรวจดูภูมิคุ้มกัน (แอนตีบอดีย์) ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ มักจะขึ้นหลังมีไข้ 4-5 วัน ปัจจุบันมี Rapid test ซึ่ง อ่านผลเร็วใน 10-15 นาที

โรคไข้เลือดออกดูแลรักษาอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เฝ้าสังเกตอาการช็อกหลังจากไข้ลดลง ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย

ป้องกันไข้เลือดออกในเด็กได้อย่างไร?
สามารถป้องกันได้ โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน และการป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก และการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ดีต่อเด็กอย่างไร?
การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือน (0, 6, 12 เดือน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65% ลดความรุนแรงของอาการเลือดออกได้ 93% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 80% โดยประมาณ แนะนำให้ฉีดป้องกันในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี่มาก่อน (seropositive) จะเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น

โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง และ คนที่เรารักนะคะ โดยเฉพาะเด็กน้อยที่เปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ เจ็บป่วยแทนได้พ่อแม่ก็คงยอมเป็นแทน แต่ในเมื่อความจริงเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็คงต้องยอมรับ และพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกๆของเรากันเอาไว้นะคะ เรียนรู้อาการของโรค พยายามหาทางป้องกัน หมั่นดูแลสุขภาพของบุตรหลาน หากสังเกตเห็นอาการเจ็บป่วยหรือผิดปกติใดๆ ก็อย่านิ่งนอนใจ รีบพาไปปรึกษาแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลกันนะคะ

คะแนน SEO
กด 5 ดาวถ้าชอบบทความนี้
[Total: 0 Average: 0]