10 วิธีการป้องกันการจมน้ำในเด็ก

        เมื่อพูดถึงเรื่องกิจกรมทางน้ำ การเล่นน้ำ การว่ายน้ำ กับเด็กๆแล้วนั้น คงไม่ต้องบอกเลยใช่ไหมค่ะ ว่ามันน่าสนใจและสนุกเพียงใดกับวัยที่กำลังเติบโต อยากรู้อยากเห็น และสนุกสนานเป็นที่สุดแบพวกเขา และแม้ว่าการว่ายน้ำจะเป็นกิจกรรมที่น่าสนุกเพียงไร แต่รู้ไหมคะว่า ในประเทศไทย การจมน้ำเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเลยนะคะ ซึ่งสูงกว่าการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ และสูงกว่าอุบัติเหตุจากการจราจรถึง 2 เท่าเลยค่ะ


 
          โดยสาเหตุของการจมน้ำที่เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นั้น มักมาจากการเผลอเรอของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น รับโทรศัพท์ ทำอาหาร หรือลืมปิดประตูบ้าน ทำให้เด็กเล็กสามารถออกไปเล่นน้ำ ตามแหล่งน้ำหรือภาชนะกักเก็บน้ำต่าง ๆ ทั้งในและนอกบริเวณบ้าน ด้วยความที่ทรงตัวไม่ดี ทำให้เด็กเล็กมีโอกาสพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้สูงมาก และแม้กับภาชนะกักเก็บน้ำในบ้านก็มีโอกาสทำให้เด็กจมน้ำได้ จากการที่เด็กหัวทิ่มลงไปในภาชนะและไม่สามารถดันตัวเองกลับขึ้นมาได้
 
          ส่วนในเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปนั้น จะเกิดจากความซุกซนตามประสาของเด็กที่เริ่มโตและเริ่มออกไปเล่นนอกบ้าน โดยการจมน้ำมักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ซึ่งเกิดได้ทั้งเด็กที่ว่ายน้ำเป็นและว่ายน้ำไม่เป็น เด็กที่ว่ายน้ำเป็นมักจะคิดว่าตนเองว่ายน้ำได้แล้ว จึงมักจะจมน้ำจากกระแสน้ำที่เชี่ยวเกินไป หรือการลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังจะจมน้ำอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็น มักจะจมน้ำจากความตื่นตระหนก ขาดทักษะ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งแหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำคือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น บ่อขุดเพื่อการเกษตร คลอง แม่น้ำ บึงน้ำ ลำธาร เป็นต้น

ดังนั้นบทความนี้จึงมานำเสนอเกี่ยวกับวิธีป้องกันการจมน้ำในเด็กนะคะ เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆค่ะ มาดูกันเลยค่ะว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

10 วิธีการป้องกันการจมน้ำในเด็ก

          1. เทน้ำในภาชนะที่ไม่ใช้แล้วทิ้ง และปิดภาชนะกักเก็บน้ำด้วยฝาปิดที่สามารถล็อกได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโอกาสเสี่ยงที่เด็กเล็ก จะจมน้ำเนื่องจากหัวทิ่มลงไปในภาชนะเหล่านั้นจนเป็นอันตราย

          2. หากบ้านที่พักอาศัยใกล้กับแหล่งน้ำต่าง ๆ ควรระมัดระวังในการปิดเปิดประตู ควรล็อกประตูหรือใช้ประตูที่เด็กไม่สามารถเปิดได้โดยง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กออกไปใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งมีโอกาสพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำสูงมาก

          3. ไม่ควรให้เด็กวิ่งเล่นในแปลงสวนไร่นาขนาดใหญ่ตามลำพัง และไกลหูไกลตา เพราะส่วนใหญ่แปลงสวนไร่นาที่มีขนาดใหญ่มักจะมีบ่อกักเก็บน้ำหรือสระน้ำเพื่อการเกษตรอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเด็กมีโอกาสพลัดหลงและตกไปในบ่อน้ำหรือสระน้ำได้

          4. ให้เด็กเรียนว่ายน้ำ การเรียนว่ายน้ำนอกจากจะดีต่อการเสริมสร้างพัฒนาการร่างกายแล้ว ยังมีประโยชน์เพราะช่วยให้เด็กว่ายน้ำเป็นและรู้จักเอาตัวรอดได้ในน้ำ แต่อย่างไรก็ดีการที่เด็กว่ายน้ำเป็น ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าเด็กจะปลอดภัยจากการจมน้ำ เพราะแหล่งน้ำบางแห่งก็อันตรายเกินไป แต่การให้เด็กว่ายน้ำเป็นอย่างน้อยก็ช่วยให้เขาสามารถเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่ง

          5. การให้เด็กไปว่ายน้ำหรือเล่นน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ จะต้องมีผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำเป็นและรู้ว่าแหล่งน้ำแห่งใดเล่นได้หรือไม่ได้ไปด้วยเสมอ โดยผู้ใหญ่คนนั้นต้องทำหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันทางน้ำให้เด็ก ๆได้ ผู้ใหญ่ต้องอยู่ในระยะที่สามารถเอื้อมถึงตัวเด็ก และสามารถช่วยเหลือเด็ก ๆ จากการจมน้ำได้อย่างถูกวิธี และทันท่วงที ซึ่งถ้าเป็นไปได้ควรพาเด็กๆไปว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ หรือชายทะเลที่มีไลฟ์การ์ด ดูแลร่วมด้วยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

          6. การให้เด็กไปว่ายน้ำเล่นจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกายติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น เสื้อชูชีพหรือห่วงยาง สำหรับให้เด็กใช้เวลาว่ายน้ำ สำหรับเด็กที่ว่ายน้ำไม่แข็ง และเอาไว้เป็นเครื่องช่วยเหลือเวลาเกิดเหตุสุดวิสัย และควรให้เด็กเล่นน้ำในพื้นที่ที่จัดไว้เฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น

          7. ก่อนให้เด็กว่ายน้ำควรให้เด็กยืดกล้ามเนื้อและวอร์มร่างกายก่อนลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายเป็นตะคริว ซึ่งเป็นสาเหตุการจมน้ำลำดับต้น ๆ

          8. สอนให้เด็กใช้ยุทธวิธี “ตะโยน โยน ยื่น” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องในการช่วยเหลือคนจมน้ำ สำหรับเด็กและบุคคลทั่วไป คือ เมื่อพบเห็นเหตุการณ์จมน้ำ ให้ตะโกนเรียกคนอื่นมาช่วย ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเอง จากนั้นให้โยนสิ่งของที่ช่วยพยุงร่างกายให้คนที่จะจมน้ำยึดเกาะ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาสนิทหรือขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝาสนิท และสุดท้ายคือยื่นวัสดุที่ให้คนที่กำลังจมน้ำจับและสามารถฉุดดึงได้ เช่น ไม้ หรือเชือก เป็นต้น ซึ่งหากได้ดำเนินการทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ เด็กสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยื่นสิ่งของให้ผู้ที่กำลังจมน้ำจับ เพราะอาจเกิดกรณีผู้ประสบภัยจับเชือกหรือไม้ได้แล้วกระชากทำให้เด็กพลัดตกลงไปในน้ำด้วยก็เป็นได้

          9. ควรให้เด็กรวมถึงตัวเองใส่ชูชีพทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมหรือเดินทาง ทางน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การพลัดตกเรือ เป็นต้น

          10. ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำกิจกรรมหรือเดินทางทางน้ำ โดยการปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยของการลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ หรือปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ และไม่ไปเล่นน้ำในสถานที่หวงห้าม ซึ่งเป็นอันตราย โดยการที่ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเช่นนี้ จะทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสมนั้นไปด้วย
 
 
และนี่ก็คือ 10 วิธี ที่น่าจะช่วยป้องกันเด็กจมน้ำได้บ้างนะคะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ใหญ่คือบุคคลสำคัญที่สุด ในทุกข้อของการป้องกันเด็กจากอุบัติเหตุที่ าจจะเกิดขึ้นนี้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีปัญหาเด็กจมน้ำเพิ่มขึ้น ผู้ใหญ่ทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่เฉพาะลูกหลานของเราเองนะคะ แต่ต้องรวมถึงเด็กคนอื่นๆด้วยค่ะ ควรสอนพวกเขาถึงการว่ายน้ำเล่นอย่างถูกวิธี แนะนำพวกเขาถึงแหล่งน้ำที่สามารถเล่นได้และที่ที่ไม่ควรเล่น ช่วยเหลือพวกเขาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริงๆ เพราะทุกชีวิตมีค่า และเด็กๆทุกคนในวันนี้ คืออนาคตของชาติในวันข้างหน้านะคะ

ปฐมพยาบาลอย่างไรให้เด็กปลอดภัยที่สุด

การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ มีขั้นตอนและข้อควรระวังดังนี้

  • สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อพบว่ามีเด็กจมน้ำ คือการประเมินสถานการณ์ ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเด็กต้องดูว่าตนเองสามารถช่วยเหลือได้มากแค่ไหน รีบขอความช่วยเหลือจากหน่วยฉุกเฉิน หรือเรียกรถพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของเด็กและผู้ช่วยเหลือด้วย
  • เมื่อช่วยเหลือเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้ว ควรให้เด็กนอนบนพื้นราบ แห้ง และปลอดภัย ไม่จับอุ้มเด็กพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออก และประเมินอาการเพื่อช่วยเหลือต่อไป
  • หากเป็นการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำและสงสัยว่าอาจจะกระทบกระเทือนต่อกระดูกต้นคอ ต้องระมัดระวังการเคลื่อนย้ายเด็ก
  • หากตรวจดูแล้วพบว่า
    • ถ้าไม่หายใจแต่ยังมีชีพจร ให้ช่วยหายใจ โดยช่วยหายใจ 1 ครั้ง ทุก 3-5 วินาที ประเมินอาการซ้ำทุก 2 นาที
    • ถ้าไม่มีชีพจรหรือไม่แน่ว่ามีชีพจร ให้ทำการกู้ชีวิต โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการช่วยหายใจ 2 ครั้ง โดยประเมินอาการซ้ำทุก 2 นาที
  • ถ้าเด็กที่จมน้ำรู้สึกตัวขึ้นมาให้เด็กนอนตะแคง จัดท่าของศีรษะให้คอแหงนเล็กน้อยเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
คะแนน SEO
กด 5 ดาวถ้าชอบบทความนี้
[Total: 0 Average: 0]