ประโยชน์ของหูฟังแบบ Noise Cancelling (หูฟังตัดเสียงรบกวน)

ช่วงนี้กระแสหูฟังตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไอเทมที่มาแรงเลยนะคะ เรามาลองทำความรู้จักกับหูฟังชนิดนี้กันดูนะคะ ว่าไอเทมตัวนี้ คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีข้อดี ข้อเสียยังไงกันบ้าง และต่างกับหูฟังทั่วไปอย่างไรบ้าง ลองอ่านดูกันเลยนะคะ

หูฟัง Noise Cancelling นั้น มีอีกชื่อเต็มๆว่า “Active Noise Cancelling” ส่วนสาเหตุที่ต้องมีคำว่า “Active” แปะอยู่ด้านหน้า ก็เนื่องมาจากว่า หูฟังแบบนี้จะต้องอาศัยกำลังไฟอีกส่วน เพื่อจะใช้สร้างคลื่นเสียงออกมาหักล้างเสียงรบกวนจากภายนอกนั่นเองค่ะซึ่งโดยมากจะเป็นเสียงย่านความถี่ต่ำไปจนถึงกลางต่ำ ยกตัวอย่างเช่น เสียงของรถที่วิ่งไปมา เสียงเครื่องยนต์ หรือเสียงของคนคุยกัน ซึ่งเสียงพวกนี้นอกจากจะเป็นมลภาวะทางเสียงแล้ว ยังทำให้เราฟังเพลงไม่ค่อยจะรู้เรื่องอีกด้วยค่ะ

หูฟัง Noise Cancelling

การที่เราเปิดใช้ระบบ Noise Cancelling ออกมา ก็จะทำให้หูฟังทำการสร้างเสียงย่านความถี่ใกล้เคียงกับเสียงมลภาวะเหล่านั้น จึงทำให้เราไม่ได้ยิน หรือได้ยินเสียงเหล่านั้นเบาลงจนรู้สึกได้ คืออารมณ์จะเหมือนอยู่ในห้องเงียบๆแบบปิดตายเลยค่ะ หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ หูฟังตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟนี้ ก็คือหูฟังที่ควบคุมเสียงรบกวนแบบแอคทีฟ โดยการตรวจจับเสียงรอบข้าง สร้าง anti-noise ที่เป็นคลื่นใหม่ ซึ่งจะยกเลิกเสียงภายนอกไม่ให้เข้ามาสู่หูของเรานั่นเองค่ะ แต่หูฟังแบบ “Active Noise Cancelling” นี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกันนะคะ ดังนั้นมาดูกันว่ามันมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรบ้าง

ข้อดีของหูฟังแบบ “Active Noise Cancelling”

  1. สามารถป้องกันเสียงรบกวนได้ดี ช่วยให้เราไม่ต้องเปิดเพลงเสียงดังมากเกินไปเป็นการถนอมหูของเราด้วย
  2. เหมาะสำหรับคนที่เดินทางบ่อยๆ ทั้งรถทัวร์และเครื่องบิน เพราะการนอนหลับพักผ่อนมักทำได้ยาก เนื่องจากเสียงรบกวนต่างๆรอบตัว ทั้งเสียงเครื่องยนต์และเสียงลม การเปิดโหมด Noise Cancelling จะช่วยให้เราสามารถหลับได้สบายง่ายขึ้นโดยไม่รู้สึกถึงเสียงรบกวนรอบข้าง
  3. หูฟัง Noise Cancelling บางรุ่น จะแถม amp มาให้ด้วยในตัว ทำให้ dynamic เวลาฟังเพลงดีขึ้น และไม่ต้องเร่งกระแสจากเครื่องมากมาย ช่วยให้ประหยัดแบตอีกด้วย

ข้อเสีย ของหูฟังแบบ “Active Noise Cancelling”

1.เนื่องจากการใช้งานของ Noise Cancelling ต้องใช้กระแสไฟเลี้ยง หูฟัง ดังนั้นหูฟัง แบบ Noise Cancelling จึงมีทั้งแบบใส่ถ่านและมีแบตในตัว ปัญหาคือ บางรุ่นถ้าไม่เปิดโหมด Noise Cancelling ก็จะฟังเพลงไม่ได้ ถ้าถ่านหมดหรือแบตหมดก็จะหมดสิทธิ์ฟังเพลงทันที

2. ระดับความแรงของ Noise Cancelling ไม่เท่ากัน หูฟังถูกๆบางทีก็จะให้ความเข้มของ Noise Cancelling มากเกินไป จนทำให้ฟังนานๆไม่ได้เพราะรู้สึกอึดอัด บางรุ่นก็เบาเกินไปจนแทบไม่รู้สึกว่าตัดเสียงรอบข้างออกไปแล้ว ดังนั้นส่วนใหญ่หูฟังที่ให้ Noise Cancelling ดีๆ ฟังง่าย ฟังสบาย และตัดเสียงได้ดี มักจะมีราคาค่อนข้างแพง

3. แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น Noise Cancelling แต่ก็กลับกันย่านเสียงได้ไม่กี่ย่าน ถ้าเทียบความสามารถในการบล็อกเสียงของ Noise isolation แล้ว ในบางจังหวะของการใช้งาน Noise isolation กลับทำได้ดีกว่า เพราะลด dB ได้เยอะกว่าอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น การใช้งานของ Noise Cancelling จึงถูกจำกัดวงการใช้งานให้เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ต้องการการพักผ่อน มากกว่าเน้นการใช้งานเพื่อการฟังเพลงแบบตัดเสียงรบกวนภายนอก พูดง่ายๆคือเหมาะเปิดระบบเพื่อเอาไว้นอนมากกว่าฟังเพลงนั่นเองค่ะ

เมื่อเห็นถึงประโยชน์การใช้งานของหูฟังแบบ “Active Noise Cancelling” แล้วรวมถึงข้อดีข้อเสียกันไปแล้ว ใครสนใจหรือถูกใจก็ลองไปจัดมาลองใช้ดูกันได้นะคะ

คะแนน SEO
กด 5 ดาวถ้าชอบบทความนี้
[Total: 0 Average: 0]