เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต เมื่อสวมใส่เสื้อชูชีพและเสื้อพยุงตัว อย่างถูกต้อง

บทความในครั้งนี้จะมานำเสนอความรู้เกี่ยวกับ เสื้อชูชีพ กันนะคะ เชื่อว่าหลายๆคน คงเคยมีกิจกรรมทางน้ำกันบ่อยครั้งเลยใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำในสระ การเล่นน้ำทะเล การเดินทางทางน้ำ รวมไปถึงกีฬาทางน้ำประเภทต่างๆด้วยนะคะ ซึ่งในกรณีของการโดยสารทางน้ำนั้น เรามักจะได้รับคำเตือนว่า “ให้สวมใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งขณะที่เรือกำลังแล่น ”  ซึ่งจัดเป็นทั้งคำเตือนและคำสั่งที่เราทุกคนในขณะนั้นต้องปฏิบัติตามนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองเป็นหลักค่ะ

ต่อไปเรามาทำความรู้จักกับเสื้อชูชีพกันนะคะ

เครดิตภาพจากสำนักงานโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข

เสื้อชูชีพ อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ( Life jacket )

เสื้อชูชีพ คืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น
ควรสวมเสื้อชูชีพไว้ เพื่อให้เรามั่นใจว่ายังไงก็ไม่จมน้ำ ตัวเสื้อที่ได้รับมาตรฐาน ISO LALIZAS Life jacket

หรืออีกนิยามความหมาย ตามในเอกสารข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสําคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสําหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ ระบุไว้ว่า  “เสื้อชูชีพ”  หมายถึง ชุดหรืออุปกรณ์ที่เพิ่มแรงลอยตัวตามขนาดที่ระบุไว้ให้กับผู้สวม ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตเมื่อสวมอย่างถูกต้อง สามารถทําให้เกิดการลอยตัวในลักษณะหงายหน้าขึ้น โดยมีการยกตัวที่เพียงพอสําหรับการใช้ในน่านน้ำ ซึ่งมีคลื่นลม โดยจะต้องมีการกระจายแรงลอยตัวเพียงพอ ที่ผู้สวมพลิกไปอยู่ในตําแหน่งที่ปากสูงพ้นจากผิวน้ำ แม้แต่กรณีที่ผู้สวมหมดสติ

คุณลักษณะของเสื้อชูชีพที่สำคัญ ดังนี้

• แรงลอยตัว ต้องไม่น้อยกว่า 100 นิวตัน
• สามารถพลิกตัวผู้สวมเสื้อชูชีพที่หมดสติให้หงายหน้าขึ้นได้
• มีความแข็งแรงสามารถทนแรงดึงได้ตามที่กำหนด
• มีสีส้มตามมาตรฐานสากล
• ติดแถบสะท้อนแสงตามมาตรฐานสากล
• ติดนกหวีดตามมาตรฐานสากล
• ทนเพลิงไหม้
• ไม่เสียสภาพเมื่อสัมผัสกับน้ำมัน

เสื้อพยุงตัว (Buoyancy Aid)

ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยพยุงร่างกายของผู้สวมใส่ให้ลอยอยู่ในน้ำได้ แต่ไม่อาจช่วยท่านได้ในทุกสถานการณ์ เนื่องจากท่านจะต้องมีสติและช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยส่วนหนึ่ง

สำหรับเสื้อพยุงตัวนั้นจะแตกต่างออกไปกับเสื้อชูชีพ ก็คือแรงลอยตัวจะไม่ได้เยอะมาก เสื้อพยุงตัวจะเพียงแค่ช่วยให้เราลอยตัวได้ แต่จะไม่สามารถพลิกตัวเราให้หงายขึ้นได้ เสื้อพยุงตัวจึง ไม่เหมาะกับผู้ที่หมดสติ และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ในทุกๆ กรณีนะคะ

เสื้อพยุงตัวนั้นมักจะถูกใช้ ในกีฬาและกิจกรรมทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น แข่งเจ็ทสกี แข่งเรือคายัค หรือแข่งเรือแคนู เป็นต้น ที่กีฬาเหล่านี้ใช้เสื้อพยุงตัวแบบนี้ ก็เพราะว่าเสื้อพยุงตัวนั้นใส่สบายกว่า ให้ความคล่องตัวสูงกว่า  และยังเคลื่อนไหวได้สะดวก นักกีฬาจึงนิยมใส่กันเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับการแข่งขันนั่นเองค่ะ

เสื้อชูชีพ ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมากในการเดินทางโดยสารทางเรือหรือการเล่นกีฬาทางน้ำ ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำที่มีประสิทธิภาพ แต่หลายคนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ รวมไปถึงเกิดความประมาทในการสวมเสื้อชูชีพ จะเห็นได้จากผู้โดยสารทางเรือส่วนมากมักจะไม่ใส่เสื้อชูชีพขณะอยู่บนเรือ โดยปกติภายในชูชีพจะบรรจุด้วยโฟมสังเคราะห์พิเศษ ซึ่งจะมีคุณสมบัติทำให้ผู้ที่สวมใส่สามารถลอยตัวในน้ำได้ และยังสามารถทนแรงกระแทกได้อย่างดีเยี่ยม เพราะฉะนั้นควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งในกรณีที่ต้องนั่งเรือไปยังลำน้ำหรือทะเล รวมไปถึงการทำกิจกรรมกีฬาทางน้ำก็ควรใส่เสื้อชูชีพอยู่ตลอดเวลาด้วยนะคะ สำคัญมากจริงๆ เพราะคำว่าอุบัติเหตุเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้นได้ตอนไหน ควรป้องกันตัวเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุดค่ะ

หลักการเลือกเสื้อชูชีพ มีดังนี้

  1. ควรเลือกเสื้อชูชีพที่มีลักษณะเหมือนแจ็คเก็ต เพื่ออำนวยความสะดวกในการใส่ สามารถใส่ได้ง่ายและเร็ว และยังทำให้ผู้ที่สวมใส่สามารถเคลื่อนไหวได้กระฉับกระเฉงอีกด้วย
  2. สีของเสื้อชูชีพควรเป็นสีสะท้อนแสงสามารถมองเห็นได้ง่าย
  3. ควรมีสายรัดอก สายรัดเอว และสายรัดระหว่างหว่างขา ที่สามารถปรับเลื่อนความยาวได้เพื่อให้กระชับกับร่างกายผู้สวมใส่ ไม่หลุดขณะลอยอยู่เหนือน้ำ และควรมีนกหวีดเพื่อเป่าเรียกขอความช่วยเหลือในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
  4. ไม่ควรมีรอยปริขาดของเนื้อผ้า และควรตรวจสอบตัวล็อคเข็มขัดให้ดีก่อนซื้อว่าสามารถใช้การได้หรือไม่

วิธีสวมเสื้อชูชีพอย่างถูกวิธี

  1. สวมเสื้อชูชีพให้ด้านเข็มขัดมาอยู่ด้านหน้าลำตัว
  2. เลื่อนปรับระดับสายเข็มขัดให้พอดีตัว โดยจะมีสายรัดอก รัดเอว และสายรัดระหว่างขา โดยการปรับระดับสายนั้นไม่ควรแน่นเกินไปหรือหลวมจนเกินไป
  3. ทดลองเป่านกหวีดที่ติดมากับเสื้อชูชีพก่อนลงน้ำเพื่อทดสอบการใช้งาน

ควรสวมใส่ชูชีพเมื่อไรและอย่างไร

  1. ก่อนออกเรือสู่ลำน้ำหรือท้องทะเล ควรสวมใส่ชูชีพตลอดเวลา หากไม่สวมก็ควรวางไว้ใกล้ตัวที่สามารถจะหยิบฉวยได้ง่าย ซึ่งเป็นกรณีที่คลื่นลมสงบและไม่มีฝนตก
  2. ควรหัดลองสวมชูชีพให้เป็นก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะควรสอนให้เด็กได้รู้จักวิธีใช้ด้วย
  3. ก่อนการลงน้ำเพื่อเล่นกีฬาทางน้ำ ควรสวมชูชีพทุกครั้ง มิใช่สวมใส่ขณะที่อยู่ในน้ำซึ่งจะทำได้ค่อนข้างลำบาก

หลักการเลือกซื้อชูชีพ (สำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำ)

  1. ควรเลือกชูชีพที่ภายในบรรจุด้วยโฟมสังเคราะห์ชนิด P.E. ซึ่งมีคุณสมบัติในการลอยตัวในน้ำและสามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดีกว่าชนิด EVA
  2. ควรเลือกชูชีพที่มีลักษณะแบบแจ็คเก็ต ซึ่งจะทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
  3. ควรมีสายรัดอกและสายรัดเอวที่สามารถเลื่อนปรับให้กระชับแก่ร่างกายได้ ควรมีสายรัดระหว่างขาจากด้านหลังมาด้านหน้าจำนวน 2 เส้น เพื่อคอยรั้งมิให้ขอบชูชีพบริเวณหัวไหล่เกิดการลอยตัวสูงขึ้นจนปิดใบหน้าและคอขณะที่ลอยตัวอยู่ในน้ำ
  4. ควรมีสีสันฉูดฉาดหรือสีสะท้อนแสงตัดกับสีน้ำทะเลเพื่อให้เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็นได้ในระยะไกล และเป็นการป้องกันเรือวิ่งชนขณะเล่นน้ำดำน้ำอย่างเพลิดเพลิน
  5. ในชูชีพควรมี “นกหวีดน้ำ” ผูกติดอยู่กับตัวเสื้อชูชีพ เพื่อไว้ใช้เรียกขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

เมื่อเลือกได้แล้วก็ลองสวมแล้วปรับสายรัดอก สายรัดเอว และสายรัดระหว่างขา ดูว่าเหมาะสมกับสรีระร่างกายของเรา และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระขณะสวมใส่หรือไม่

เสื้อชูชีพ (Life jacket)

หากสวมใส่เสื้อชูชีพอย่างถูกต้องและตัวเสื้ออยู่ในสภาพดี จะช่วยให้ผู้สวมใส่ลอยตัวอยู่ในน้ำในตำแหน่งที่ปากและจมูกของผู้สวมใส่ อยู่เหนือแนวน้ำแม้ในขณะหมดสติและลดความเสี่ยงต่อการจมน้ำ ทั้งสำหรับผู้ที่ว่ายน้ำเป็นและว่ายน้ำไม่เป็น
สำหรับตัวเสื้อชูชีพที่มีลักษณะพิเศษสามารถพลิกหน้า ผู้สวมใส่เสื้อชูชีพที่หมดสติให้ปากและจมูกพ้นน้ำ พร้อมปกที่กว้างที่มีส่วนสำคัญในการประคองศีรษะให้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ISO Life jacket

เสื้อชูชีพ นั้น หากใส่ถูกวิธี เมื่อมันทำงาน ต่อให้คนที่ประสบภัยเรือล่ม หมดสติอยู่ เสื้อชูชีพ ก็จะช่วยประคองให้ผู้ประสบภัยอยู่ในท่าหงาย หัว คอ อยู่พ้นน้ำ ไม่จมน้ำเสียชีวิต จากนั้นผู้ประสบภัยก็อยู่ในท่ารอความช่วยเหลือ ซึ่งหากมีเสื้อชูชีพแบบนี้ ต่อให้ว่ายน้ำไม่เป็น ก็ยังปลอดภัย ลอยคอทั้งวัน ก็ยังไหวค่ะ ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ประสบภัยได้อย่างมหาศาลกันเลยค่ะ

คะแนน SEO
กด 5 ดาวถ้าชอบบทความนี้
[Total: 1 Average: 5]