เตือนภัย สลิปและเอกสารปลอม

บทความนี้จะมานำเสนอ จุดสังเกตเอกสารปลอมต่างๆ รวมไปถึงวิธีการเช็คว่าได้รับเงินโอนจากลูกค้าจริงๆหรือไม่นะคะ ยุคสมันนี้เราต้องรู้ทันทุกกลโกงจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่มีเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองไปหมดนะคะ หากคุณๆได้ติดตามข่าวสารเตือนภัยกลโกงที่กำลังระบาดอย่างหนักไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ หลายท่านอาจจะเคยพบเห็นข่าวเรื่องการปลอมแปลงเอกสารอยู่บ่อยครั้งเลยใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นการแอบอ้างโดยใช้ตราสัญลักษณ์ขององค์กร หรือ หน่วยงานของรัฐที่น่าเชื่อถือ หรือ แม้แต่การส่งหลักฐานสลิปออนไลน์ปลอมต่างๆนานา ที่ได้สร้างความเสียหายให้กับหลายๆคนที่ไม่ทันได้สังเกตให้ดีก่อน บทความนี้ จะพาทุกคนมาจับผิดกลโกงของมิจฉาชีพด้วยการสังเกต จุดสำคัญที่สามารถเช็กได้ว่า เอกสารที่เราได้รับนั้นเป็นของจริง หรือ ของปลอมกันแน่นะคะ จะได้ไม่พลาดท่าเสียทีให้เหล่าคนโกงกันนะคะ

จุดสังเกต เอกสารปลอม 

  1. ตรวจสอบกับต้นทางที่ออกเอกสารโดยตรง ว่าเอกสารเป็นของจริงหรือไม่
  2. เช็กชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ในเอกสารที่ถูกแอบอ้าง และสอบถามตรวจสอบรายละเอียดก่อนจะทำการใดๆ
    (หากกระทำ หรือ ใช้เอกสารปลอม ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และมาตรา 268 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ)

วิธีการจับผิดสลิปปลอม

  1. สแกน QR CODE บนสลิปโอนเงินที่ได้รับ
  1. สังเกตจากวันที่ ยอดเงิน และชื่อบัญชีของบัญชีปลายทาง 
  2. เทียบยอดเงินที่ได้รับ และเวลาในการโอน
  3. ดูภาพรวมของสลิป สังเกตที่ตัวหนังสือ และความสม่ำเสมอของตัวเลข

วิธีการเช็คว่าเงินโอนเข้าบัญชีจริงหรือเปล่า

  1. เช็กยอดเงินเข้าบัญชี
    เราสามารถใช้แอปฯ Mobile Banking เช็กได้ตลอดเวลาว่ามียอดเงินโอนเข้าบัญชีหรือไม่ โดยให้เข้าไปเช็กว่ายอดเงิน วัน-เวลาที่โอน ตรงกับในสลิปที่ได้มาไหม แต่อาจมีในบางกรณีที่ยอดเงินโอนเข้าช้ากว่าปกติ เนื่องจากการทำงานที่ล่าช้าของระบบธนาคารหรือระบบขัดข้อง อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นสลิปปลอม
  2. เปิดบริการแจ้งเตือนเมื่อมีเงินเข้า
    หลาย ๆ ธนาคารจะมีบริการแจ้งเตือนผ่าน SMS, LINE official หรือแอปพลิเคชันของธนาคาร เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชี ทำให้เรารู้และมั่นใจได้ว่ามียอดเงินเข้ามาจริง ๆ ซึ่งบริการนี้อาจฟรีหรือมีการเก็บค่าบริการ ขึ้นอยู่กับธนาคารที่ใช้อยู่
  1. ใช้ระบบตรวจสอบสลิป
    ในกรณีที่เป็นร้านค้าออนไลน์และมียอดการโอนเงินเข้าเป็นจำนวนมาก สามารถใช้ระบบจัดการร้านค้าของแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่มีระบบตรวจสอบสลิปและยอดเงินเข้าอัตโนมัติได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาได้มาก เพราะไม่ต้องเช็กด้วยตัวเอง และสุดท้ายนี้ ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสลิปปลอม ในกรณีที่เป็นการซื้อ-ขายสินค้า ก็อย่าเพิ่งมอบหรือจัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อเด็ดขาดเลยนะคะ แนะนำให้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปจะดีที่สุดค่ะ

คะแนน SEO
กด 5 ดาวถ้าชอบบทความนี้
[Total: 0 Average: 0]