ผู้เขียน หัวข้อ: มหากาพย์ 'ยอโควิช' ความเข้าใจผิดหรือจงใจปกปิดข้อมูล  (อ่าน 37 ครั้ง)

Thetaiso

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 6580
  • รับทำ SEO No.1 SEONo1.co.th
    • ดูรายละเอียด

หนึ่งในข่าวที่อยู่ในความสนใจของแฟนกีฬาและประชาคมโลกในปัจจุบัน คงไม่พ้นมหากาพย์การเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลียเพื่อป้องกันแชมป์ 'ออสเตรเลียน โอเพ่น' รายการแกรนด์สแลมรายการแรกของปีของ โนวัค ยอโควิช [pr] นักเทนนิสชายเดี่ยวมือวางอันดับ 1 ของโลกวัย 34 ปี ที่หวังทำสถิติคว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่ 10 และแชมป์แกรนด์สแลมชายเดี่ยวสมัยที่ 21 มากเป็นอันดับ 1 ของโลกแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยอโควิชกลับเป็น 'มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลียที่เข้มงวด' หลังออสเตรเลียมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด (12 ม.ค.) มีจำนวนรวมกว่า 1 ล้านรายแล้ว

การที่ยอโควิชมีปัญหาในการเดินทางเข้าออสเตรเลียนั้น เป็นเพราะยอโควิชเป็นหนึ่งในผู้ที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดของออสเตรเลียที่ระบุให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 2 เข็ม หรือได้รับการยกเว้นทางการแพทย์ ซึ่งในกรณีของยอโควิชนั้น ไม่มีหลักฐานการฉีดวัคซีน และ (ในตอนแรก) ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่เพียงพอที่จะได้รับการยกเว้นทางการแพทย์ได้

การปฏิเสธวีซ่าของยอโควิชพร้อมสั่งกักตัวนักเทนนิสชายเดี่ยวมือวางอันดับ 1 ของโลกไว้ในโรงแรมสำหรับผู้ลี้ภัยได้ก่อให้เกิดความคิดเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลออสเตรเลียว่า 'ไม่ควรมีใครได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ' โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวออสเตรเลียต้องอยู่ภายใต้ภาวะล็อกดาวน์ที่ยาวนานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอีกฝ่ายที่สนับสนุนยอโควิช โดยมองว่ารัฐบาลออสเตรเลียปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับนักหวดลูกสักหลาดรายนี้

*ยอโควิชเจอปัญหาในการเดินทางเข้าออสเตรเลีย รายงานระบุว่า ยอโควิชเดินทางถึงออสเตรเลียในวันที่ 5 ม.ค. เวลาประมาณ 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะทำการปฏิเสธวีซ่าของยอโควิช และทำการย้ายนักหวดมือ 1 ของโลกไปกักตัวยังโรงแรมสำหรับผู้ลี้ภัยเมื่อเวลาประมาณ 07.40 น. เพื่อรอการส่งตัวออกนอกออสเตรเลีย ในเวลาต่อมา ทางทีมทนายความของยอโควิชได้ทำการยื่นเรื่องต่อศาล โดยอ้าง 'ความเป็นธรรมด้านกระบวนการ' และ 'ความไร้เหตุผลทางกฎหมาย' โดยชี้ว่าทางฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ให้เวลายอโควิชอย่างเพียงพอที่จะติดต่อกับทนายหรือผู้จัดการแข่งขันออสเตรเลียน โอเพ่น ทางทีมทนายของยอโควิชระบุว่า ยอโควิชขอเวลาถึง 08.30 น. เพื่อจะติดต่อกับทีมทนายและผู้จัดการแข่ง แต่กลับถูกฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองเร่งให้ยอโควิชเข้ากระบวนการรับทราบข้อกล่าวหาก่อนถึงเวลาที่ร้องขอ จนนำไปสู่การถูกยกเลิกวีซ่าและถูกกักตัว ในการตัดสินของศาลออสเตรเลียในวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาแอนโธนี เคลลี มีคำสั่งให้ปล่อยตัวยอโควิชภายใน 30 นาที และต้องคืนพาสปอร์ตพร้อมเอกสารส่วนตัวอื่น ๆ ให้แก่นักกีฬาผู้นี้ พร้อมระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่เพิกถอนวีซ่าของเขานั้น 'ไม่สมเหตุสมผล' ทำให้ยอโควิชจะสามารถเข้าร่วมการแข่งออสเตรเลียน โอเพ่นได้ แต่ทว่ารัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียกลับไม่คิดเช่นนั้น

*ยอโควิชปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิดหรือไม่ แม้ว่าศาลออสเตรเลียจะตัดสินให้คืนพาสปอร์ตให้กับยอโควิชแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองยังคงเดินหน้าสืบสวนว่าแบบฟอร์มการเดินทางของยอโควิชนั้นมีการแจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่ โดยฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียยังคงมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกวีซ่าของยอโควิชได้อีกครั้งภายใต้เหตุผลว่า 'มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และกฎระเบียบอันดีของออสเตรเลีย' และหากถูกยกเลิกวีซ่าในครั้งนี้ ยอโควิชอาจถูกสั่งห้ามเข้าออสเตรเลียเป็นเวลา 3 ปี

ทีมทนายของยอโควิชระบุว่า ยอโควิชได้รับการยกเว้นทางการแพทย์ เนื่องจากมีผลตรวจโควิดเป็นบวกในวันที่ 16 ธ.ค. 2564 ซึ่งทำให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขณะที่ในแบบฟอร์มการเดินทางเข้าออสเตรเลียนั้นระบุไว้ว่า 'ไม่ได้เดินทางไปไหนในช่วง 14 วันก่อนวันที่ 6 ม.ค.'

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานทางโซเชียลมีเดียมากมายที่แสดงให้เห็นว่ายอโควิชไปปรากฏตัวในงานต่าง ๆ มากมาย แม้หลังจากที่ผลตรวจโควิด-19 จะออกมาแล้วก็ตาม โดยยอโควิชเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ในวันที่ 16 ธ.ค. และได้รับการยืนยันผลว่าติดเชื้อโควิดในวันเดียวกันนั้น แต่พบว่าหลังจากนั้น ยอโควิชก็ยังคงเข้าร่วมงานต่าง ๆ และในบางครั้งก็ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เช่น

17 ธ.ค. เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลให้กับเยาวชนในสมาคมเทนนิสเบลเกรด
18 ธ.ค. เข้าร่วมในการให้สัมภาษณ์และถ่ายภาพกับหนังสือพิมพ์เลอกิ๊ปของฝรั่งเศส โดยยอโควิชระบุว่าได้ใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคมตลอดเวลาการให้สัมภาษณ์ และถอดหน้ากากออกในตอนที่ถ่ายภาพเท่านั้น
22 ธ.ค. มีผลตรวจ PCR เป็นลบ
25 ธ.ค. เล่นเทนนิสที่ถนนต่าง ๆ ในกรุงเบลเกรดช่วงเทศกาลคริสต์มาส
31 ธ.ค. ซ้อมเทนนิสที่สเปน
*ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียสามารถเอาผิดยอโควิชได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามกฎหมายของเซอร์เบียนั้น ผู้มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกจะต้องทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เว้นเสียแต่ว่าจะมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบในระหว่างการกักตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอโควิชจะฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าวจริง แต่ก็เป็นมาตรการของทางเซอร์เบียและสเปน ส่วนที่ทางออสเตรเลียสามารถเอาผิดได้นั้น อาจเป็นเรื่องการแจ้งข้อมูลในแบบฟอร์มการเดินทางไม่ตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น สำหรับเรื่องการแจ้งข้อมูลดังกล่าวนั้น ทางยอโควิชได้ออกแถลงการณ์ทางอินสตาแกรมส่วนตัวระบุว่า ทางตัวแทนของตนเองได้กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มผิดพลาด

แถลงการณ์ระบุว่า 'ตัวแทนของผมขอกล่าวขอโทษอย่างจริงใจสำหรับความผิดพลาดดังกล่าวในการกรอกข้อมูลผิดช่อง เรื่องดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดของมนุษย์และไม่ใช่การจงใจอย่างแน่นอน'

*ความเห็น 2 ด้านจากวงการเทนนิส

สมาคมเทนนิสอาชีพ (ATP) ระบุว่า 'ความวุ่นวายเกี่ยวกับนักเทนนิสที่เข้าร่วมออสเตรเลียน โอเพ่น ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ สื่อสาร และการใช้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ยอโควิชเดินทางไปออสเตรเลียเพราะเชื่อว่าได้รับการยกเว้นทางการแพทย์ตามกฎ และปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลเสียต่อทุกฝ่าย' พร้อมเสริมว่า ยังคงแนะนำให้นักเทนนิสทุกคนฉีดวัคซีนก่อนเข้าร่วมการแข่งขันของ ATP

ด้านราฟาเอล นาดาล นักหวดจากสเปนระบุว่า 'ผมอาจจะไม่เห็นด้วยกับยอโควิชในบางเรื่อง แต่การตัดสินออกมาแล้วว่ายอโควิชมีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งออสเตรเลียน โอเพ่น และผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินที่ยุติธรรมแล้ว ผมหวังให้เขาโชคดี' ก่อนจะพูดติดตลกว่า 'แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่อยากให้เขาเข้าแข่งนะ'

ทั้งนี้ นาดาลเป็นหนึ่งในสามนักเทนนิสที่ครองแชมป์แกรนด์สแลมมากที่สุดที่ 20 สมัยร่วมกับยอโควิช และโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ จากสวิตเซอร์แลนด์ โดยนาดาลประกาศว่าตนเองมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม นาดาลได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว

ขณะที่เรนาต้า โวราโชว่า นักเทนนิสประเภทคู่จากสาธารณรัฐเช็กที่ถูกยกเลิกวีซ่า หลังจากเดินทางเข้าออสเตรเลียด้วยข้อยกเว้นทางด้านการแพทย์เช่นเดียวกับยอโควิช และถูกส่งกลับประเทศก่อนที่จะทำการอุทธรณ์นั้น ได้ออกมาสนับสนุนยอโควิช โดยระบุว่า 'ฉันหวังว่าเขาจะได้ลงแข่ง เพราะนั่นคือสาเหตุที่พวกเราไปที่นั่น เพื่อเล่นเทนนิส ไม่ใช่เพื่อเป็นตัวหมากใด ๆ'

แต่อีกด้านหนึ่ง มาร์ตอน ฟูโชวิช นักเทนนิสจากฮังการีมีความเห็นแย้งว่า 'สุขภาพของประชาชนคือสิ่งสำคัญ มันมีกฎบอกไว้แล้วว่า ทุกคนควรจะฉีดวัคซีน และยอโควิชไม่ได้ฉีด ซึ่งจากจุดนี้ ผมมองว่าเขาไม่มีสิทธิ์จะอยู่ที่นี่'

*เหตุใดรายการ ออสเตรเลียน โอเพ่น จึงสำคัญกับยอโควิช ปัจจุบันยอโควิชเป็นผู้ที่ครองแชมป์รายการออสเตรเลียน โอเพ่น มากที่สุด 10 สมัย ขณะที่นาดาลนั้นมีสถิติที่ไม่ดีนักในรายการนี้ และเฟเดอเรอร์ก็ไม่ได้ลงแข่งในรายการนี้ เนื่องจากยังคงรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่ยอโควิชจะทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายเดี่ยวที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมมากที่สุดเพียงหนึ่งเดียว นอกจากนี้ แกรนด์สแลมรายการที่ 2 ของปีคือเฟรนช์ โอเพ่นที่จะแข่งขันในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ประเทศฝรั่งเศสบนคอร์ทดิน ที่แม้ยอโควิชจะเป็นแชมป์เก่าในการแข่งปี 2564 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสนามแห่งนี้เป็นสนามถนัดของนาดาลที่คว้าไปครองได้ถึง 13 สมัย มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่เฟเดอเรอร์อาจจะหายจากอาการบาดเจ็บกลับมาลงแข่งได้อีกครั้งในยูเอส โอเพ่นซึ่งเป็นแกรนด์สแลมสุดท้ายของปี

เชื่อว่ายอโควิชคงไม่อยากพลาดโอกาสที่จะทำสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในสนามที่ตัวเองคว้าแชมป์ได้มากที่สุดอย่างออสเตรเลียน โอเพ่นอย่างแน่นอน แต่จะได้ทำหรือไม่นั้นคงต้องรอให้ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียเป็นผู้ให้คำตอบ